กรวยป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Casearia grewiifolia Vent.
ชื่อเรียกอื่น :
ก้วย ผีเสื้อหลวง สีเสื้อหลวง (ภาคเหนือ), ขุนเหยิง บุนเหยิง (สกลนคร), คอแลน (นครราชสีมา), ตวย (เพชรบูรณ์), ตวยใหญ่ ตานเสี้ยน (พิษณุโลก), ผ่าสาม (นครพนม, อุดรธานี)
ชื่อวงศ์ :
FLACOURTIACEAE
ลักษณะ :
ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 5-15 ม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายแหลม โคนมนกว้าง มักเว้าเล็กน้อยที่รอยต่อก้านใบ ขอบจักถี่ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยที่เส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไป ดอกมีจำนวนมาก ออกเป็นกระจุกเล็กๆ ตามง่ามใบที่ใบร่วงไปแล้ว ดอกสมบูรณ์เพศ สีขาวหรือเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยงเล็ก ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 8-10 อัน ผลมีเนื้อ รูปไข่ ผิวเรียบ ผนังหนา สุกสีเหลือง เนื้อหุ้มเมล็ดสีแสด
การกระจายพันธุ์ :
พบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณและป่าดิบทั่วทุกภาค ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร ต่างประเทศพบในพม่า ไทย ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย
ช่วงเวลาการออกดอก :
เดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์


ประโยชน์ :
ตำรายาไทยใช้ ราก แก้ท้องร่วง แก้ตับพิการ (ความผิดปกติของตับ) เปลือก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ดอก แก้ไข้ ใบและดอก แก้พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ ใบ แก้โรคผิวหนังผื่นคันที่มีตัว (เช่น กลาก เกลื้อน หิด) หรือผสมกับใบยาสูบ มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองขึ้นในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) หุงเป็นน้ำมันทาบาดแผลและผิวหนังติดเชื้อโรค เมล็ด แก้ริดสีดวงทวาร และเบื่อปลา

Scroll to Top