กระชายดำ

ชื่อ : กระชายดำ (โสมไทย, โสมกระชายดำ)

ชื่อสามัญ : Black galingale

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia parviflora Wallich. ex Baker.

ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE

ชื่อท้องถิ่น : ขิงทราย (มหาสารคาม), กะแอน ระแอน ว่านกั้นบัง ว่านกำบัง ว่านกำบังภัย ว่านจังงัง
ว่านพญานกยูง (ภาคเหนือ)

ลักษณะ

ต้นกระชายดำมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้หนาแน่นในแถบมาเลเซีย สุมาตรา เกาะบอร์เนียว อินโดจีน และในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย
และพม่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีการปลูกกระชายดำมากในจังหวัดเลย ตาก กาญจนบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือ โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ากระชายดำ นั้นมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม
เป็นปุ่มปมเรียงต่อกัน และมักมีขนาดเท่า ๆ กัน มีหลายเหง้าและอวบน้ำ ผิวเหง้ามีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม และอาจพบรอยที่ผิวเหง้าเป็นบริเวณที่จะงอกของต้นใหม่ ส่วนเนื้อภายในของเหง้ามีสีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม
ไปจนถึงสีม่วงดำ เหง้ามีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสชาติขมเล็กน้อย โดยกระชายดําที่ดีนั้นจะต้องมีสีม่วงเข้มถึงสีดำ กระชายดำเป็นพืชที่ชอบที่ร่ม ดินร่วนซุยหรือเป็นดินปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศหนาวเย็น และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแบ่งเหง้า สามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าต้องการให้หัวหรือเหง้ามีคุณภาพต้องปลูกและเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล คือปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

 

ใบกระชายดำมีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบหยักตามเส้นใบ ผิวใบเป็นร่องคลื่นตลอดใบตามแนวของเส้นใบ
ใบมีสีเขียวสด ส่วนโคนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบหุ้มลำต้นไว้ ขอบก้านใบมีสีแดงตลอดความยาวของก้าน ส่วนกลางก้านเป็นร่องลึก

 

ดอกกระชายดำดอกออกเป็นช่อแทรกขึ้นมาจากโคนกาบใบ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร กลีบดอกที่ส่วนโคนเชื่อมเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-3.2 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉก เกสรตัวผู้เป็นหมัน
มีสีขาว ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-13 มิลลิเมตร ส่วนกลีบปากมีสีม่วง

 

ประโยชน์

ประโยชน์กระชายดำ ในปัจจุบันนอกจากเราจะใช้กระชายดำเพื่อเป็นยาสมุนไพรทั้งแบบหัวสดและแบบแห้ง ยังมีการนำไปบดเป็นผงบรรจุซองไว้ชงกับน้ำร้อนเพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ “น้ำกระชายดำ”
และยังนำมาทำเป็น “ลูกอมกระชายดำ” แต่ที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันก็คือการนำมาทำเป็น “ไวน์กระชายดำ” หรือนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพร “กระชายดําแคปซูล” (แคปซูลกระชายดํา), “กระชายดําผง”, “ยาน้ำกระชายดำ”
หรือแปรรูปเป็น “กาแฟกระชายดํา”

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/กระชายดำ/

Scroll to Top