กล้วยน้อย

ชื่อ : กล้วยน้อย

ชื่อสามัญ –

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylopia vielana Pierre.

ชื่อวงศ์ : Annonaceae

ชื่อท้องถิ่น : สะทาง (อุบลราชธานี), เกรา (สุรินทร์), ตาเหลว (นครราชสีมา), ทัดทาง (กรุงเทพมหานคร) ต้นทาง กั้นทาง ตันทาง

 

ลักษณะ

ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร เรือนยอดรูปกรวยคว่ำ กิ่งก้านเรียวเล็ก กิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสั้นๆ สีแดงปกคลุม ต่อมาเกลี้ยง ตามผิวลำต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศสีขาวกระจายอยู่ทั่วไป
เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน มีขนนุ่มสั้นๆทั้งสองด้านของใบ เส้นแขนงใบ 7-12 คู่
ก้านใบยาว 5-8 มิลลิเมตร ดอกเดี่ยว หรือออกกระจุกละ 1-2 ดอก ออกที่ซอกใบบริเวณใกล้ปลายยอด กลีบดอกสีเหลืองแกมน้ำตาลอ่อน โคนกลีบสีแดงเลือดนก มีกลิ่นหอม เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 2-2.5 เซนติเมตร
กลีบดอกหนา มี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง  วงนอก รูปขอบขนานกว้าง 4-6 มิลลิเมตร ยาว 2 เซนติเมตร บานกางลู่ลง กลีบวงในแคบกว่า บานตั้งฉากกับวงนอก กลีบดอกด้านนอกมีขนสีเหลืองอ่อนปกคลุม  กลีบเลี้ยง รูปรีแกมรูปสามเหลี่ยมกว้างและยาวราว 4-5 มิลลิเมตร ผลกลุ่ม มีผลย่อย 4-6 ผล ผลรูปทรงกระบอก เบี้ยวโค้งออกด้านนอกด้านเดียว กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร ผลย่อยแตกตะเข็บเดียว
ก้านช่อผลยาว 1.5-2 เซนติเมตร ก้านผลยาว 0.5-1 เซนติเมตร ผลแก่สีเหลืองอมส้ม เนื้อสีแดง เมล็ดรูปไข่ 2-3 เมล็ด สีน้ำตาลแกมเทา ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พบตามป่าดิบแล้ง
ที่ระดับความสูง 200-500 เมตรออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกันยายน จัดเป็นพืชถิ่นเดียว และหายากของไทย

  

ประโยชน์

ตำรายาไทย ดอก  บำรุงหัวใจ
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ดอก  เข้าเกสรร้อยแปด ปรุงยาหอมบำรุงหัวใจ
ชาวบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ รับประทาน ผลสุกและใบอ่อน  เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำฟืนอยู่ไฟ และใช้ในพิธีกรรม โดยใช้กิ่งของต้นตันทางนี้ ขีดที่ดินเพื่อแบ่งดินแดนระหว่างคนกับผี หลังจากเสร็จพิธีเผาผี เชื่อว่าวิญญาณข้ามเส้นที่ขีดไว้ไม่ได้

แหล่งอ้างอิง

http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=198

Scroll to Top