กันภัยมหิดล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Afgekia mahidolae B.L. Burtt&Chermsir.
ชื่อเรียกอื่น :
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ลักษณะ : ไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง  กิ่งอ่อนสีเขียว มีขนนุ่มหนาแน่น ใบ ใบเรียงสลับ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ ใบย่อยมี 7-11 ใบ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 1.5-3.5 ซม. ยาว 2.5-7.5 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลมและมักมีติ่งสั้น หลังใบมีขนหนาแน่นกว่าท้องใบ ดอก ดอกช่อออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว 10-50 ซม. โคนก้านดอกมีริ้วประดับ รูปขอบขนาน ปลายแหลม บิดเวียน สีม่วง หลุดร่วงง่าย กลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปดอกถั่ว ยาว 2-3 ซม. โคนกลีบเลี้ยงซ้อนกัน มีขนนุ่ม กลีบดอกแยก 4 กลีบ กลีบกลาง (standard) สีม่วง กลีบคู่ข้าง (wing) สีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่าง (keel) สีเหลืองอ่อน มีขนปกคลุม เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนเชื่อมติดกัน 9 อัน ผล ผลเป็นฝักแบนแบบถั่ว กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 6.0-95. ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดค่อนข้างกลม สีดำเป็นมัน ขนาดเส้นผ่านศุนย์กลางประมาณ 1.5 ซม.

การกระจายพันธุ์ : กันภัยมหิดล จัดเป็นพรรณไม้หายากที่พบเฉพาะในบางท้องที่เท่านั้น ซึ่งถูกค้นพบโดย ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) และอาจารย์เกษม จันทรประสงค์ บริเวณภูเขาหลังสถานีรถไฟวังโพ จังหวัดกาญจนบุรี และพบกระจายพันธุ์ตามป่าเต็งรังหรือภูเขาหินปูนในทางภาคตะวันตกของประเทศไทย

ช่วงเวลาการออกดอก : สิงหาคม-พฤศจิกายน

ประโยชน์ :

1. ใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกประดับ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ทั้งปลูกเป็นซุ้มหรือปล่อยให้เลื้อยตามแนวรั้วหน้าบ้าน
2. กันภัยมหิดลมีลำต้นเป็นเถาเลื้อยยาว และแตกกิ่งจำนวนมาก สามารถปลูกด้วยการทำหลักหรือโครงไม้ให้เถาพาดเลื้อยขึ้น กลายเป็นซุ้มบังแดดภายในบ้าน
3. เถากันภัยมหิดลใช้ทำเชือกรัดของได้

Scroll to Top