ว่านกาบหอย

 

ชื่อ : กาบหอยแครง หรือ ว่านกาบหอย

ชื่อสามัญ : Boat-lily, Oyster Lily, Oyster plant, White flowered tradescantia

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tradescantia spathacea Sw.

ชื่อวงศ์ : COMMELINACEAE

ชื่อท้องถิ่น : กาบหอยแครง ว่านหอยแครง (กรุงเทพฯ), อั่งเต็ก ฮ่ำหลั่งเฮี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว), ปั้งหลานฮวา ปั้งฮัว (จีนกลาง)

 

ลักษณะ

ต้นว่านกาบหอยมีถิ่นกำเนิดในแถบเม็กซิโก คิวบา และอเมริกากลาง มีเขตการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งทวีปเอเชียด้วย โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มักขึ้นเป็นกอ ๆ ไม่มีการแตกกิ่งก้าน
ลำต้นอวบใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-5 เซนติเมตร มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยไหลหรือยอด หรือปักชำในพื้นที่ปลูกในช่วงฤดูฝน
หรือปักชำในถุงเพาะชำในโรงเรือนนอกฤดูฝน เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงครึ่งวัน

ใบว่านกาบหอยใบออกจากลำต้น ออกเรียงเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปหอกยาวหรือรูปแกมขอบขนานปลายแหลม ปลายใบแหลม โคนใบตัดและโอบลำต้น ส่วนขอบใบเรียบ
แผ่นใบหนาและตั้งตรง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีม่วงแดง เส้นใบขนาน มองเห็นไม่ชัด และไม่มีก้านใบ

ดอกว่านกาบหอยออกดอกเป็นช่อที่โคนใบหรือตามซอกใบ ช่อดอกมีทั้งช่อเดี่ยวและหลายช่อ ในแต่ละช่อประกอบไปด้วยใบประดับที่เป็นมีลักษณะเป็นกาบ 2 กาบ สีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปหัวใจโค้ง มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร โคนกาบทั้งสองประกบเกยซ้อนและโอบหุ้มดอกขนาดเล็กสีขาวที่อยู่รวมกันเป็นกระจุก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ที่โคนก้านช่อดอกมีใบประดับ 1 ใบ สีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบ มีก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับสีม่วงอ่อนเป็นเยื่อบาง ๆ ลักษะเป็นรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกมีกลีบสีขาวเลี้ยง 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวได้ประมาณ 3-6 มิลลิเมตร มีลักษณะบางและใส ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร แผ่นกลีบดอกหนา
ตรงใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้เป็นขนฝอย 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว รูปเรียว มีขนยาว ส่วนปลายก้านแผ่แบนเป็นสีเหลือง อับเรณูเป็นสีแดง รังไข่ผนังเรียบ ภายในมีช่อง 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด
โดยจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน ผลว่านกาบหอยผลเป็นผลแห้งเมื่อแตกจะแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร
มีขนเล็กน้อยภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก

ประโยชน์

  1. ในประเทศอินเดียและชวาจะใช้ใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหาร
  2. ใช้ทำน้ำดื่มหรือทำไวน์ โดยวิธีการทำน้ำว่านกาบหอยแครง ให้เตรียมส่วนผสม ดังนี้ ใบว่านกาบหอย 5-15 ใบ, น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วย และน้ำสะอาด 2 1/2 ถ้วย ขั้นตอนแรกให้นำว่านกาบหอยแครงสดมาล้างน้ำให้สะอาด โดยแช่ด่างทับทิมประมาณ 10-20 นาที เสร็จแล้วนะมาหั่นตามขวางให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่ลงไปในหม้อน้ำเดือน ต้มให้เดือดประมาณ 3-7 นาที แล้วเติมน้ำทรายให้พอหวาน กรองเอาแต่กากออก ก็จะได้น้ำว่านกาบหอยแครงสีชมพูอ่อนดูน่ารับประทาน แล้วให้กรองใส่ขวดนึ่งประมาณ 20-30 นาที เมื่อเย็นแล้วให้เก็บใส่ตู้เย็น เพื่อเก็บไว้ดื่มได้หลายวัน
  3. ใบนำมาปิ้งให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผงผสมกับน้ำมัน หรือใช้น้ำคั้นจากต้นที่เคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา นำมาทาศีรษะจะช่วยทำให้ผมดกดำ และช่วยแก้ผมหงอกก่อนวัยได้ (ต้น,ใบ)
  4. ในประเทศอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากต้นว่านกาบหอยผสมในหมึกสัก
  5. ส่วนในประเทศใช้จะใช้พืชชนิดนี้ร่วมกับผลมะเกลือย้อมผ้า จะทำให้ผ้าสีติดทนดี
  6. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน สนาม สวนยา ตามโคนต้นไม้ขนาดใหญ่ ปลูกคลุมดิน หรือปลูกใส่กระถางไว้ทำยาตามบ้านเรือน พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีอายุหลายปี ไม่ต้องดูแลรักษามาก ใบไม่ค่อยร่วง
    และออกดอกสวยงามได้ตลอดปี (ส่วนพันธุ์แคระจะไม่ออกดอก)
  7. นอกจากจะใช้เป็นยารักษาในคนแล้ว ยังใช้กับสัตว์ได้ด้วย เช่น ถ้าสัตว์เลี้ยงมีบาดแผลเลือดออก ฟกช้ำ ก็ให้ใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น หรือหากวัวปัสสาวะเป็นเลือด ก็ให้ใช้ต้นแห้งร่วมกับผักกาดน้ำ อย่างละประมาณ 60-120 กรัม ต้มกับน้ำให้วัวกิน หรือถ้าวัวถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ก็ให้ใช้ต้นว่านกาบหอยสด ๆ รวมกับพลูคาวสด และก้านบัวหลวงแห้ง อย่างละประมาณ 120-240 กรัม ผสมกับน้ำตาลทรายลงไปต้มให้วัวกิน เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/ว่านกาบหอย/

Scroll to Top