คนทา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Harrisonia perforata (Blanco) Merr.
ชื่อเรียกอื่น : กะลันทา โกทา ขี้ตำตา จี้ สีเตาะ สีฟัน สีฟันคนตาย สีฟันคนทา หนามจี้
ชื่อวงศ์ : Simaroubaceae
ลักษณะ : เป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถาหรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน ใบคนทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบร่วมเป็นปีกแผ่ขยายออกแคบ ๆ และใบมีรสขม ดอกคนทา ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ภายในมีแป้นดอก ดอกย่อยด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ส่วนด้านในเป็นสีนวล กลีบดอกและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ผลคนทา ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เบี้ยว และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบเนียนคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อผลค่อนข้างแข็ง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร
การกระจายพันธุ์ : พบได้ตามที่โล่งในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร และสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด

ช่วงเวลาการออกดอก :

ประโยชน์ :

  1. กิ่งก้านมีรสเฝื่อนขม สามารถนำมาใช้แปรงฟัน หรือสีฟันเพื่อรักษาฟันได้ ด้วยการนำกิ่งขนาดนิ้วก้อยที่ยาวประมาณ 1 คืบ นำมาลอกเปลือกออกปลายด้านหนึ่งแล้วทุบให้เป็นเส้นฝอย ๆ และอาจช่วยทำให้เส้นดีขึ้นด้วยการใช้มีดผ่าออกเป็นแนวยาว ๆ แล้วนำปลายฝอยนี้ไปถูกับไม้ระแนงที่เตรียมไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อทำให้ปลายฝอยฟูเป็นขนแปรงที่นุ่มขึ้น ส่วนปลายของอีกด้านหนึ่งก็เหลาให้แหลม ใช้ทำเป็นไม้จิ้มฟันหรือใช้เขี่ยเศษอาหารได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานจะใช้หนามคนทาทำแปรงสีฟัน เพื่อไปถวายให้พระสงฆ์ในช่วงที่มีการถวายพุ่มเทียนพรรษา และพระสงฆ์สายธรรมยุตในวัดป่าของทางภาคอีสาน ยังนิยมใช้แปรงสีฟันจากกิ่งของต้นคนทากันอยู่
  2. เปลือกต้นใช้ยาแก้ตาเจ็บสำหรับสัตว์พาหนะ
  3. ผลอ่อนนำไปหมดไฟหรือนำไปต้มแล้วทุบพอแตก นำมาใช้ทาเท้าก่อนทำนาจะช่วยป้องกันน้ำกัดเท้าในฤดูทำนาได้
  4. ผลคนทาสดยังสามารถนำมาสกัดน้ำสีที่ใช้สำหรับย้อมผ้า โดยผลคนทา 15 กิโลกรัมจะสามารถย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยสีที่ให้คือสีเทาม่วง
  5. เนื้อไม้มีความเหนียว ไม่หักง่าย และมีความยืดหยุ่น จึงนำไปใช้ทำเป็นคานหาบน้ำได้
  6. เนื้อไม้ใช้สำหรับทำเป็นฟืนในพิธีกวนข้าวทิพย์
  7. นิยมปลูกต้นคนทาไว้ในสวนหรือตามวัดบางแห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำยา

ราก รสขมเฝื่อนฝาดเย็น แก้ท้องร่วง บิด ลดความร้อนในร่างกาย กระทุ้งพิษไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัวลมทุกชนิด แก้ไข้เส้น ไข้เหนือและไข้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นส่วนประกอบในยาแก้ไข้เบญจโลกวิเชียร รากอ่อนและต้น แก้ท้องร่วง แก้บิด

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้คนทาในตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของรากคนทาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้

ใบคนทา
Scroll to Top