ติ้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer (Cratoxylum formosum subsp. formosum)
ชื่อเรียกอื่น : แต้วหิน (ลำปาง), ผักเตา เตา (เลย), ติ้วส้ม (นครราชสีมา), กวยโชง (กาญจนบุรี), ตาว (สตูล), ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด ติ้วเหลือง (ภาคเหนือ), ติ้วเหลือง (ภาคกลาง), แต้ว (ภาคใต้), ผักติ้ว
ชื่อวงศ์ : HYPERICACEAE
ลักษณะ :ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร เปลือกนอกสีน้ำตาลปนดำ แตกเป็นสะเก็ดตามยาว เปลือกในสีน้ำตาลเหลืองและมียางเหนียว ๆ สีเหลืองปนแดง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง กิ่งเล็กตามลำต้น มักกลายสภาพเป็นหนามแข็ง ๆ ใบ เป็นใบเดี่ยว ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานกว้าง 2.-4.5 ซม. ยาว 3-13 ซม. โคนใบสอบเรียว เนื้อใบบาง หลังใบมีขนสากๆส่วนท้องใบมีขนนุ่มหนาแน่น ใบอ่อนออกสีชมพูเรื่อ ใบแก่ก่อนผลัดใบมีสีแดง ขอบใบเรียบ ดอก สีชมพูอ่อนถึงแดง กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นกระจุกตามกิ่ง ทั้งกลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ กลีบรองกลีบดอกมีขนประปรายส่วนกลีบดอกเกลี้ยงและยาวประมาณ 2 เท่าของกลีบรองกลีบดอก เกสรผู้มีมาก และแบ่งเป็น 3 กลุ่ม รังไข่รูปรีๆเกลี้ยงๆ ผล เป็นชนิดผลแห้ง รูปรีๆ ยาวประมาณ 2 ซม. แข็งมีคราบสีนวลๆตามผิว ผลแก่จัดจะแตกอ้าออกเป็น 3 แฉก สีน้ำตาล เมล็ด รูปขอบขนานเล็กๆ มีปีกโค้งๆ

การกระจายพันธุ์ : พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทุกภาค ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1000 เมตร

ช่วงเวลาการออกดอก :

ประโยชน์ :

  • ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของติ้วขาวหรือผักติ้วใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย น้ำตก แจ่ว ซุปหน่อไม้ น้ำพริก น้ำพริกปลาร้า ขนมจีน หมี่กะทิ เมี่ยงญวน แหนมเนืองเวียดนาม หรือจะนำไปประกอบอาหาร เช่น ใส่ต้มหรือแกงต่าง ๆ เพื่อใช้ปรุงรสเปรี้ยวแทนการใช้มะนาว เช่น แกงเห็ด แกงปลา[1],[2],[6],[7]
  • ดอกอ่อน ใช้ทำซุปหรือยำได้ แต่จะนิยมใช้ติ้วขาวมากกว่าติ้วขน เพราะติ้วขาวมีรสชาติขมและฝาดน้อยกว่าติ้วขน[2]
  • สารสกัดด้วยน้ำของติ้วขนมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กับปลานิล โดยปลานิลที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมด้วยสารสกัดติ้วขน (อัตราส่วน 1.5% (w/w)) จะมีภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ (Nonspecific immune response) สูงขึ้น[5]
  • สารสกัดจากผักติ้ว (ยอดอ่อน) ที่เข้ากระบวนการสกัดผสมกับเอทานอล (และขั้นตอนอีกหลายขั้นตอน) จนได้สารจากผักติ้วที่ชื่อว่า “คอลโรจินิกเอซิก” สามารถนำไปใช้ยับยั้งกลิ่นหืนของอาหารได้เป็นอย่างดี (งานวิจัยของนิสิตโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)[6]
  • ไม้ติ้วขาวสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำโครงสร้างบ้าน สร้างขื่อบ้าน ทำกระดานพื้น สร้างรั้ว ทำเสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือ จอบ เสียม เครื่องตกแต่งภายในเรือน กระสวยทอผ้า ทำหีบใส่ของ ฯลฯ
Scroll to Top