ปอสา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Broussonetia papyrifera (L.) L’Herit
ชื่อเรียกอื่น :
ฉำฉา ชำสา (นครสวรรค์), ปอกะสา (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หมอมี หมูพี (ภาคกลาง), ปอฝ้าย (ภาคใต้), ส่าแหล่เจ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เซงซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ชะดะโค ชะตาโค (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), สายแล (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ป๋อสา (คนเมือง), ไม้ฉายเล (ไทใหญ่), ไม้สา (ไทลื้อ), ลำสา (ลั้วะ), หนั้ง (เมี่ยน), เตาเจ (ม้ง), ตุ๊ดซาแล (ขมุ), ตู๋ซิก จูซิก (จีนแต้จิ๋ว), โกวสู้ ชู่สือ (จีนกลาง), ปอสา
ชื่อวงศ์ :
MORACEAE
ลักษณะ :
 ไม้ต้น สูง 12-15 เมตร ยอดอ่อนมีขนสีเทาปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ส่วนใหญ่รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ด้านหลังใบหยาบ ด้านท้องใบมีขนนุ่มสีเทาปกคลุม ดอกเพศผู้เป็นช่อแบบหางกระรอก ดอกเพศเมียเป็นช่อทรงกลม ผลรวม สุกสีส้มแดง


การกระจายพันธุ์ :
เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น ทางตอนเหนือของประเทศพม่าและไทย ชอบขึ้นในบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ตามริมน้ำและที่ชื้น ในป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความสูงประมาณ 50-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ช่วงเวลาการออกดอก :
กุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม


ประโยชน์ :
เปลือกปอสาเป็นวัตถุดิบในการนำไปผลิตเป็นกระดาษสากระดาษสามีคุณสมบัติทนทานไม่กรอบและไม่เปื่อยยุ่ยง่ายเก็บรักษาได้นาน กระดาษสาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์และของใช้ได้มากมาย เช่น ร่ม ว่าว ดอกไม้ โคมไฟ พัด บัตรอวยพรต่าง ๆ ตุ๊กตา

สรรพคุณทางยา :

  1. ผลมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทาน
  2. ผลมีรสหวานชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม และไต มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสายตา ช่วยทำให้ตาสว่าง
  3. เปลือกลำต้นนำมาเผาไฟให้เป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียดใช้แต้มตา แก้ตาเป็นต้อ หรือจะใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้เช่นกัน
  4. ใช้รักษาอาการหูอื้อ ตามัว หรือตาไม่สว่าง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน
  5. น้ำคั้นจากเปลือกกิ่งก้านอ่อนใช้รับประทานเป็นยาแก้โรคตาแดง
  6. เปลือกกิ่งก้านอ่อน นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำรับประทานแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ
  7. ใบใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ในกระเพาะ
  8. รากและเปลือกมีรสหวานฝาด เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ก็ได้เช่น
  9. เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน
  10. ใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย
  11. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด แก้อาเจียนออกมาเป็นเลือด กระอักเลือด ตกเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน
  12. ใช้เป็นยาแก้บิด บิดเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด สตรีตกเลือด สามารถห้ามเลือดได้ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน
  13. ผล รากและเปลือก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน
  14. ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นมีหนอง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน
  15. ราก ต้น และใบ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร
  16. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน ส่วนอีกวิธีใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาลดอาการบวมน้ำ
  17. ผลใช้เป็นยาบำรุงตับและไต ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้ ส่วนรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไตเช่นกัน
  18. ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็นบาดแผลมีเลือด จะเป็นยารักษาแผลสด ช่วยห้ามเลือด หรือจะใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบาดแผลที่มีเลือดออก ส่วนรากและเปลือกใช้ภายนอกก็มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผลสดเช่นกัน ด้วยการใช้รากแห้งนำมาหั่นและบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ใส่บริเวณที่เป็นแผลสด แผลฟกช้ำ
  19. ยางนำมาใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หรือจะใช้ยางสด 10 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์หรือวาสลิน 90 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น ส่วนใบใช้เป็นยา
  20. แก้กลากเกลื้อนหรือประสาทผิวหนังอักเสบ แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น
  21. ใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบริเวณที่เป็นผื่นคัน
  22. ผลนำมาตำแล้วใช้พอกบริเวณที่มีฝีหนอง
  23. ใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ปวดฝี
  24. ใบใช้ตำพอกรักษาแผลจากตะขาบ งู แมงป่อง และแมลงที่มีพิษกัดต่อย ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น
  25. ยางก็ใช้เป็นยาทาแก้พิษงู แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  26. ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นและกระดูก
  27. นอกจากนี้หากมีอาการปวดเวียนศีรษะบ่อย ๆ กระหายน้ำ ปากขม ท้องผูก มีอาการการหลั่งน้ำอสุจิยามนอนหลับ หรือมีอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ก็ให้ใช้ถั่วดำประมาณ 1 ถ้วยชา นำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้แช่ผลปอกระสาที่แห้งแล้ว จากนั้นนำมาตากให้น้ำถั่วแห้งสนิท ใส่เมล็ดเก๋ากี้ แล้วคั่วรวมกันให้เกรียม บดให้เป็นผงละเอียด ใช้รับประทานวันละ 15 กรัม

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม ราก เปลือก และใบ ให้นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ครั้งละ 10-18 กรัม ส่วนรากสดและใบ ใช้ต้มน้ำประมาณ 30-70 กรัม ส่วนผลให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม (ยาจีนส่วนมากจะใช้ผลเป็นยามากกว่า)

ข้อควรระวัง : ไม่ควรรับประทานผลปอกระสาในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกอ่อน อีกทั้งยังทำให้ท้องร่วงได้อีกด้วย[4],[5]

Scroll to Top