พริกไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper nigrum Linn.
ชื่อเรียกอื่น : พริกน้อย Pepper
ชื่อวงศ์ : PIPERACEAE
ลักษณะ : ไม้เถาเลื้อยพัน ข้อโป่งนูนมีรากฝอยเพื่อใช้ยึดเกาะ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปไข่ กว้าง 5-8 ซม. ยาว 8-11 ซม. โคนมน ปลายแหลม ผิวเรียบมัน ดอก สีขาวอมเขียว ขนาดเล็กไม่มีก้านดอก ออกบนช่อแกน ยาว 7-15 ซม. แต่ละช่อมี 50-150 ดอก ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ ลักษณะกลม ไม่มีกลีบรองดอกและกลีบรองดอกเริ่มบานจากส่วนโคนไปปลายช่อ ผล เป็นผลสด รูปกลม ขนาด 0.3-0.5 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดง เมื่อแห้สีดำ เมล็ดสีขาว
การกระจายพันธุ์ : ปลูกทั่วไป ในประเทศแถบศูนย์สูตรที่มีอากาศร้อนชื้น ในประเทศไทยปลูกมากที่จังหวัดจันทบุรี จากความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,500 ม.

ช่วงเวลาการออกดอก : ตลอดทั้งปี

ประโยชน์ : ใช้ในการประกอบอาหาร

การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร : ใช้ เมล็ด ลดอาการท้องอืดเฟ้อ  แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ให้ผายเรอ ช่วยเจริญอาหาร ,แก้กองลม , บำรุงธาตุ , แก้ลมอัมพฤกษ์ ,  แก้มุตตกิต , แก้ลมสัตถกะวาตะ , แก้ลมอันเนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์ , แก้ลมมุตตฆาต (ลมที่ทำให้ท้องลั่นโครกคราก) ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย  ทำให้ตัวเย็นรู้สึกร้อนเหงื่อออกสบาย ขับปัสสาวะ กระตุ้นประสาท บำรุงธาตุ บำรุงไฟธาตุ แก้อาหารไม่ย่อย ผลและเมล็ด รักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร อาเจียน แก้ลม จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในกระเพาะ ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ปวดฟัน แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แก้หวัด ทำให้น้ำลายออกมาก ช่วยให้น้ำย่อยหลั่งมากขึ้น ทำให้อยากอาหาร แก้อ่อนเพลีย กษัยกร่อนแห้ง  แก้บิด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตะคริว แผลปวดเพราะสุนัขกัด ฝี สะอึก ห้ามเลือด ยาหลังคลอดบุตร ปวดศีรษะ แก้อาหารเป็นพิษ ตำรายาอินเดีย ใช้กลั้วคอ แก้เจ็บคอ ลดไข้
 นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้พริกไทยในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของพริกไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ

Scroll to Top