มะคำดีควาย

ชื่อ : มะคำดีควาย หรือ ประคำดีควาย

ชื่อสามัญ :  Soap Nut Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus rarak DC. , Sapindus trifoliatus L.

ชื่อวงศ์ : SAPINDACEAE

ชื่อท้องถิ่น : ประคำดีควาย (ภาคกลาง), มะซัก ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ), ชะแซ ซะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะ

ต้นมะคำดีควาย(ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้งในทุกภาคของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด

 

ใบมะคำดีควายใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 2-4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว

 

ดอกมะคำดีควายออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็กสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในหนึ่งดอกจะมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน และมีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลปนแดงขึ้นอยู่ประปราย ส่วนบริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน

 

ผลมะคำดีควายผลออกรวมกันเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-2 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว ผิวผลเรียบหรืออาจมีรอยย่นที่ผลบ้าง เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมีพู 3 พู และมักจะฝ่อไป 1-2 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน เป็นเมล็ดที่มีเปลือกหุ้มแข็ง

ประโยชน์

  1. ใบนำมานึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก (ลั้วะ)
  2. ชาวบ้านตามชนบทจะนิยมนำผลมาใช้เป็นสารชะล้างแทนสบู่เพื่อชำระล้างร่างกาย สระผม หรือนำไปใช้ซักผ้า ผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือใช้ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องเพชร ฯลฯ เพราะผลเมื่อนำมาทุบแล้วจะเกิดฟองคล้ายสบู่ (ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแชมพูสระผม (แชมพูมะคำดีควาย) ครีมนวดผม น้ำยาล้างจาน)
  3. เมล็ดมะคำดีควายมีลักษณะกลมและแข็ง มีสีน้ำตาลดำ สามารถนำไปใช้ร้อยทำเป็นลูกประคำได้
  4. ผลมีความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็นมาก โดยเฉพาะปลา จึงมีการนำมาใช้ในการเบื่อปลา และใช้เป็นยาฆ่าแมลง
  5. ผลหรือลูกประคำดีควายที่สกัดเอาน้ำแล้วนำไปคลุกกับเหยื่อพิษ หรือใช้ฉีดพ่นต้นข้าว จากนั้นนำไปวางในนาข้าว เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยกำจัดหอยเชอรี่ได้ โดยขั้นตอนการทำก็เริ่มจากการนำลูกประคำดีควาย
    1 ส่วน ต่อน้ำร้อน 2 ส่วน แช่ลูกประคำดีควายกับน้ำไว้ 12 ชั่วโมง จากนั้นให้ขยำเนื้อให้ละเอียด แยกเอาเมล็ดออก แล้วนำผ้าขาวบางมากรองเอาแต่สารละลาย เสร็จแล้วให้นำสารละลายที่กรองได้มาผสมกับน้ำเพิ่ม
    อีกในอัตราส่วน 1 ต่อ 6 (สารละลาย 1 ส่วนต่อน้ำเปล่า 6 ส่วน) แค่นี้ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนเนื้อของลูกประคำดีควายสามารถนำมาผสมกับน้ำและคั้นเอาสารสกัดได้อีก 2 ครั้ง

แหล่งอ้างอิงmedthai.com/มะคำดีควาย/

Scroll to Top