มะลิ

ชื่อ : มะลิ

ชื่อสามัญ :  Arabian jasmine, Seented star jusmine, Jusmine, Kampopot

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum sambac (L.) Aiton

ชื่อวงศ์ : OLEACEAE

ชื่อท้องถิ่น : มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน), มะลิป้อม (ภาคเหนือ), มะลิซ้อน มะลิลา (ภาคกลาง), มะลิ มะลิลา มะลิซ้อน (ทั่วไป), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่งสอน), บักหลี่ฮวย เซียวหน่ำเคี้ยง (จีน), หม้อลี่ฮวา (จีนกลาง)

ลักษณะ

ต้นมะลิมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบประเทศเอเชีย เช่น อินเดีย คาบสมุทรอาระเบีย โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นทรงพุ่ม มีใบแน่น มีความสูงประมาณ 5 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบ ๆ ลำต้น
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ (ในช่วงฤดูฝนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด) และการตอนกิ่ง (เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี) เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบแสงแดดจัด การให้น้ำมากเกินไปจะทำให้ออกดอกน้อยลง และการตัดแต่งใบภายหลังการออกดอกชุดใหญ่จะทำให้การออกดอกดีขึ้น (ทั้งจำนวนและขนาดของดอก)

 

ใบมะลิใบออกเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปมนป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก
ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมันเป็นสีเขียวแก่ ที่ท้องใบเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นใบมีขนาดใหญ่ มีประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบมีขนาดสั้นมากและมีขน

 

ดอกมะลิออกดอกตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะของดอกมีทั้งดอกซ้อนและดอกไม่ซ้อน ดอกซ้อนเราจะเรียกว่า “มะลิซ้อน” ส่วนดอกที่ไม่ซ้อนจะเรียกว่า “มะลิลา” โดยทั้งสองชนิดจะเป็นดอกสีขาวและมีกลิ่นหอม
ซึ่งดอกมะลิลาจะมีกลิ่นหอมมากกว่าดอกมะลิซ้อน ขนาดของดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมะลิลาปลายแยกเป็น 5-8 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
ดอกที่อยู่ตรงกลางจะบานก่อน แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนปลายแยกเป็นเส้น มีเกสรเพศผู้ 2 ก้านติดกับกลีบดอกในหลอดสีขาว และมักไม่ติดผล

 

ประโยชน์

  1. ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและยังมีสีขาวบริสุทธิ์ คนไทยนิยมยกย่องดอกมะลิให้เป็นดอกไม้ของวันแม่แห่งชาติและดอกมะลิลายังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย
  2. นิยมเก็บดอกเพื่อนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย หรือใช้ทำดอกไม้แห้ง ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นใบชา ใช้อบขนมต่าง ๆ
  3. ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือการบำบัดโดยการใช้กลิ่นหอม จะใช้น้ำมันหอมระเหยของดอกมะลิ ในการกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ง่วง ช่วยปรับอารมณ์และสภาพสมดุลของจิตใจให้ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะ ความเครียด ความกลัว และช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ (ดอก)
  4. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ยิ่งในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำจะยิ่งส่งกลิ่นแรง เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ปลูกได้ง่าย ปลูกได้ดีทั้งในพื้นที่แคบหรือในกระถาง เจริญเติบโตเร็ว ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน และสามารถควบคุมการออกดอกได้โดยการควบคุมการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสม
  5. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าการปลูกต้นมะลิไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้มีความสงบสุข ร่มเย็น เป็นที่ประทับใจแก่ผู้คนรอบข้าง ช่วยเกื้อหนุนให้เกิดความกตัญญูของผู้เป็นลูกที่มีต่อแม่ และเพื่อความสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นมะลิไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และให้ปลูกในวันพุธเพื่อเอาคุณ โดยผู้ปลูกควรเป็นสตรีที่สูงอายุ เพราะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง และยังเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป โดยต้นมะลิที่นิยมปลูกไว้ในบ้านเพื่อความเป็นมงคลมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน คือ มะลิซ้อน มะละฉัตร มะลิพวง มะลิวัลย์ และพุทธชาด นอกจากนี้ต้นมะลิยังเป็นต้นไม้ประจำวันเกิดของผู้เกิดวันจันทร์อีกด้วย ซึ่งหมายถึงความนุ่มนวลอ่อนโยนและเรียบร้อย

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/มะลิ/

Scroll to Top