รางจืด

ชื่อ : รางจืด หรือ ว่านรางจืด

ชื่อสามัญ : Laurel clockvine, Blue trumphet vine

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thunbergia laurifolia Lindl.

ชื่อวงศ์ : เหงือกปลาหมอ  ACANTHACEAE

ชื่อท้องถิ่น : รางเย็น คาย (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์), น้ำนอง (สระบุรี), จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง), ว่านรางจืด

ลักษณะ

ต้นรางจืด เป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถานั้นจะกลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนกับตำลึง และมะระ แต่อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย จึงสามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นของประเทศไทยทั่วทุกภาค เจริญเติบโตได้เร็วมาก และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถาในการปักชำ

 

ใบรางจืด เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจหรือรูปใบขอบขนานหรือเป็นรูปไข่ โคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร
มีเส้นอยู่ 3 เส้นออกจากโคนใบ

 

ดอกรางจืด ลักษณะของดอกออกเป็นช่อห้อยลงมาตามซอกใบ ช่อละ 3-4 ดอก ดอกมีสีม่วงอมฟ้า มีใบประดับสีเขียวประแดง มีกลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกเป็นรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด และมักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ภายในหลอด กลีบดอกมีปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน

 

ผลรางจืด ลักษณะเป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก

 

ประโยชน์

  1. สมุนไพรรางจืดสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงมากชนิดหนึ่ง ซึ่งเราสามารถกินยอดอ่อน ดอกอ่อนเป็นผักได้ โดยจะใช้ลวกกิน แกงกิน ก็ทำได้เหมือนกับผักพื้นบ้านทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ยังนิยมกินน้ำหวานจากดอกรางจืดที่บ้านได้อีกด้วย โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การกินรางจืดในปริมาณติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลหิตวิทยาหรือเคมีคลินิกที่อาจเกิดขึ้นต่อไปด้วย
  2. ชารางจืดใบรางจืดสามารถนำมาหั่นเป็นฝอย ตากลมให้แห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแทนชาได้ ส่วนรสชาติที่ได้ก็ดีไม่แพ้กับใบชาเลยที่เดียว แถมยังมีกลิ่นหอมอีก และยังช่วยล้างพิษในร่างกายได้อีกด้วย
  3. ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรรางจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แคปซูลรางจืดหรือรางจืดแคปซูล เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้ประโยชน์
  4. การปลูกรางจืดนอกจากจะใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรแล้ว ก็ยังนิยมปลูกไว้เพื่อชมดอก แล้วก็ยังสามารถช่วยบังแสงแดดทำให้เกิดร่มเงาได้อีกด้วย (แต่อย่าลืมว่ารางจืดเป็นไม้เลื้อย เลื้อยแหลก เลื้อยจนรก
    เลื้อยแบบไร้การควบคุม)

 

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/รางจืด/

 

Scroll to Top