สมอภิเภก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia bellerica (Gaertn.) Roxb.

ชื่อเรียกอื่น : ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง)  ลัน (เชียงราย)  สมอแหน (ภาคกลาง) สะคู้ ( แม่ฮ่องสอน)  แหน  แหนขาว  แหนต้น (ภาคเหนือ)
ชื่อวงศ์ : Combretaceae
ลักษณะ : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-35 เมตร ลำต้นตรง โคนต้นมักเป็นพูพอน เปลือกสีเทาอมน้ำตาลหรือเป็นสีดำ ๆ ด่าง ๆ เป็นแห้ง ๆ ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องลึก ๆ ไปตามยาวลำต้น เปลือกในสีเหลือง เรือนยอดกลม แผ่กว้างและค่อนข้างทึบ กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนประปราย ใบ  เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลาย ๆ กิ่ง ทรงใบรูปรี ๆ แกมรูปไข่กลับ กว้าง 9-15 ซม. ยาว 13-19 ซม. โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบผายกว้างปลายสุดจะหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ เส้นแขนงใบโค้งอ่อนมี 6-10 คู่ เส้นใบแบบเส้นร่างแหเห็นชัดทางด้านท้องใบ เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเขียวเข้ม และมีขนสีน้ำตาลกระจายทั่วไป ท้องใบสีจางหรือสีเทามีขนนุ่ม ๆ คลุม แต่ทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่จัด ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 4-6 ซม. บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูดหนึ่งคู่ ดอก  มีขนาดเล็ก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ แบบหางกระรอก ที่ง่ามใบหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อจะห้อยย้อยลง ช่อยาว 10-15 ซม. ดอกเพศผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลาย ๆ ช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ กลีบฐานดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ ทั้งหมดมีขนทั่วไป เกสรผู้มี 10 อัน เรียงซ้อนกันอยู่เป็นสองแถว รังไข่ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อน 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว ผล  เป็นพวกผลสดแบบผลมะละกอ (drupe) ลักษณะรูปกลมหรือกลมรี ๆ แข็ง ขนาดยาวประมาณ 2.5-3.0 ซม.  กว้าง 1.5-2.0 ซม. ไม่มีครีบ มีเหลี่ยม 5 เหลี่ยม ตามผิวนอกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนา แน่น ออกรวมกันเป็นพวงโต ๆ เนื้อไม้  สีเหลืองแกมเทา เสี้ยนค่อนข้างตรง เนื้อหยาบ ผึ่งง่าย ทนทาน พอใช้ในที่ร่ม เลื่อย ผ่า ไสกบง่าย แต่ชักเงาไม่ขึ้น มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 0.85 เนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 609 กก. ความแข็งแรงประมาณ 1,152 กก./ตร.ซม. ผึ่งให้แห้งด้วยกระแสอากาศได้ง่าย อบให้แห้งได้ยากปานกลาง ใช้ตารางอบไม้ที่ 4 ความทนทานตามธรรมชาติ ตั้งแต่ 2-12 ปี เฉลี่ยประมาณ 4.9 ปี อาบน้ำยาได้ง่าย

การกระจายพันธุ์ : พบขึ้นกระจายทั่ว ๆ ไป ตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและภาคกลางที่สูงจากน้ำทะเล 100-400 เมตร สำหรับทางภาคใต้พบขึ้นตามที่ราบในป่าดงดิบ

ช่วงเวลาการออกดอก : มีนาคม-พฤษภาคม

ประโยชน์ :  เนื้อไม้ : ใช้ทำพื้น ฝา หีบใส่ของ และการก่อสร้างต่าง ๆ เรือขุด คันไถ ทำเครื่องใช้ทางการเกษตร ราก : ใช้แก้พิษโลหิต ซึ่งมีอาการทำให้ร้อน เปลือกต้น : ใช้แก้โรคเกี่ยวกับปัสสาวะพิการ ใบ : รักาษแผลติดเชื้อ ดอก : แก้ตาเปียกแฉะ ผล :  เป็นยาเจริญอาหาร บำรุง แก้ไข้ ท้องร่วง โรคเรื้อน ริดสีดวงทวาร ท้องมาร ถ้ารับประทานมาก ๆ เป็นยาเสพติด และทำให้หลับเมื่อเอาเมล็ดออกย่างไฟนาบสะดือเด็กหลังจากสายสะดือหลุด ผลค่อนข้างสุก เป็นยาระบาย เมื่อสุกเต็มที่เป็นยาสมาน  ผลแห้ง แก้ไอ เสียงแห้ง เจ็บคอ ธาตุพิการ ผลดิบ : ใช้รับประทานเป็นยาระบาย เปลือกและผลให้สีขี้ม้าใช้ย้อมผ้า  ผล ให้น้ำฝาดชนิด Pyrogallol และ Catechol.

Scroll to Top