สมอไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia chebula Retz.
ชื่อเรียกอื่น : สมอ (นครราชสีมา) ม่าแน่ (เชียงใหม่) สมอไทย สมออัพยา (ภาคกลาง) หมากแน่ะ (แม่ฮ่องสอน) มะน่ะ หมากนะ ส้มมอ
ชื่อวงศ์ : Combretaceae
ลักษณะ : ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 20-30 เมตร เรือนยอดกลมกว้าง เปลือกต้นขรุขระ สีเทาอมดำ เปลือกในสีเหลืองอ่อน เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีแดง กิ่งอ่อนสีเหลืองหรือสีเหลืองแกมน้ำตาล มีขนคล้ายไหม เปลือกแตกเป็นสะเก็ดห่างๆ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปรีกว้าง กว้าง 5-10 ซม. ยาว 11-18 ซม.ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนกลมหรือกึ่งตัด หรือบางครั้งเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนเป็นเงามันมีขนเล็กน้อย ผิวด้านล่างมีขนคล้ายไหมถึงขนสั้นหนานุ่ม เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ ข้างละ 5-8 เส้น ก้านใบยาว 1.5-3 ซม. มีขนคล้ายไหม มีต่อม 1 คู่ ใกล้โคนใบ ดอก ออกเป็นช่อคล้ายช่อเชิงลดหรือช่อแยกแขนง มี 3-5 ช่อ สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ  มักจะออกพร้อมๆกับใบอ่อน ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว 5-8.5 ซม. ไม่มีก้านช่อดอก หรือก้านช่อดอกสั้น แกนกลางสั้นและเปราะ มีขนสั้นนุ่ม ดอกสมบูรณ์เพศขนาดเล็ก 0.3-0.4 ซม. ไม่มีกลีบดอก ส่วนบนเป็นรูปถ้วยตื้นมีขนคลุมด้านนอก ใบประดับรูปแถบ ยาว 3.5-4 มม. ปลายแหลม มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวอมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก เกลี้ยง รูปคล้ายสามเหลี่ยม เกสรเพศผู้มี 10 อัน ยื่นพ้นหลอดกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณู ยาว 3-3.5 มม. เกลี้ยง จานฐานดอกมีขน เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 2-3.5 มม. รังไข่เกลี้ยง หมอนรองดอกมีพูและขนหนาแน่น ผล แบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือเกือบกลม กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. ผิวเกลี้ยง หรือมีสันตื้น ๆ ตามยาว 5 สัน เมื่อแก่สีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวปนน้ำตาลแดง เมล็ด แข็ง มี 1 เมล็ด รูปยาวรี ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ติดผลราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือพบตามทุ่งหญ้า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง ประมาณ 1,000 เมตร
การกระจายพันธุ์ : สมอไทย เป็นพืชท้องถิ่นไทย มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า และลาว เป็นต้น พบได้มากในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ

ช่วงเวลาการออกดอก : เมษายน-พฤษภาคม

ประโยชน์ : ผล รสเปรี้ยวฝาด ขมชุ่ม เป็นยาสุขุม ผลอ่อนจะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และสมานลำไส้ ผลแก่จะมีฤทธิ์ฝาดสมาน นอกจากนี้ยังใช้อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ ออกฤทธิ์ต่อปอด กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาสมานลำไส้ ห้ามเลือดทั้งภายในและภายนอก เป็นยาละลายเสมหะ ขับเสมหะ ทำให้ปอดชุ่มชื่น แก้หลอดลมอักเสบ คออักเสบ เสียงแหบ แก้ไอ ลิ้นไก่อักเสบ แก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง แก้ท้องผูก โรคท้องมาน แก้ท้องร่วงเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร เลือดออก สมานแผลในลำไส้ แก้ท้องเสีย เป็นยาระบายรู้ถ่ายรู้ปิด แก้บิดเรื้อรัง แก้กามเคลื่อน แก้สตรีตกเลือด ปัสสาวะบ่อย และเป็นยาเจริญอาหาร    เป็นยาระบาย แก้ปวดท้อง เป็นยาบำรุง แก้เจ็บคอ ขับน้ำเหลืองเสีย นำผลมาบดละเอียดโรยแผลเรื้อรัง แก้ลมจุกเสียด ช่วยเจริญอาหาร เนื้อหุ้มเมล็ด แก้ท้องผูก แก้บิด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี ตับม้ามโต โรคท้องมาน อาเจียน อาการสะอึก โรคหืด และท้องร่วงเรื้อรัง เปลือกต้น ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ ขับน้ำเหลืองเสีย เปลือกต้นและแก่น แก้ท้องเสีย ทั้งต้น ขับเสมหะ แก้เสียวคอ แก้ท้องผูก เป็นยาฝาดสมาน ดอก รักษาโรคบิด

Scroll to Top