สลอด

ชื่อ : สลอด

ชื่อสามัญ : Croton oil plant, Purging Croton

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton tiglium L.

ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ชื่อท้องถิ่น : บะกั้ง (แพร่), มะข่าง มะคัง มะตอด หัสคืน หมากทาง (ภาคเหนือ), สลอดต้น หมากหลอด ต้นหมากหลอด ลูกผลาญศัตรู (ภาคกลาง), หมากยอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ปาโต้ว (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะ

ต้นสลอด จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้นเรียบเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม มีเส้นร้อย ตรงกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวและมีขนปกคลุม
ยอดอ่อนเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การตอน และการปักชำ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นน้อย ไม่ชอบดินแฉะ พบได้ทั่วไปในเขตร้อน จากอินเดีย ศรีลังกา
จีนและมาเลเซีย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไป และจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

 

ใบสลอด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปหอก หรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือกว้าง ส่วนขอบใบหยักห่าง ๆ หรือจักเป็นซีฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-14 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือหน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีเขียวอ่อน แต่พอแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและร่วงไป หน้าใบมีขนขึ้นประปราย ส่วนหลังใบเรียบ มีเส้นใบประมาณ 3-5 เส้น
ที่ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม มีก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร

ดอกสลอด ออกดอกเดี่ยว ๆ หรืออกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกันและอยู่ในช่อเดียวกัน หรืออยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศเมียจะอยู่ช่วงล่าง
ส่วนดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงบน ดอกเพศผู้จะมีมีขนเป็นรูปดาว มีกลีบรองดอก 4-6 กลีบ ปลายกลีบมีขน และมีกลีบดอก 4-6 กลีบ ขอบกลีบดอกมีขน ฐานดอกมีขน มีต่อมจำนวนเท่ากัน และอยู่ตรงข้ามกับกลีบรองกลีบดอก เกสรเพศผู้จะมีจำนวนมาก ลักษณะของก้านเกสรไม่ติดกัน เมื่อดอกยังอ่อนอยู่ ก้านเกสรจะโค้งเข้าไปข้างใน ส่วนดอกเพศเมียจะไม่มีกลีบดอกหรือมีแต่จะมีขนาดเล็กมาก มีกลีบรองดอกเป็นรูปไข่ มีขนที่โคนกลีบ
รังไข่มี 2-4 ช่อง โดยดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็กมาก วางสับหว่างกัน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะงองุ้มไปด้านหลัง

 

ผลสลอด ลักษณะของผลเป็นรูปรี รูปกลมยาว หรือกลมรูปไข่ แบ่งเป็นพู 3 พู ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ผิวผลขรุขระเล็กน้อยและสากมือ ผลแห้งจะออกเป็น 3 ซีก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี กลมรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เมล็ดแบนเล็กน้อยเมล็ดมีขนาดกว้าง
ประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และหนาประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันเงา เนื้อเมล็ดอมน้ำมัน และน้ำมันจากเมล็ดมีพิษมาก

ประโยชน์

  1. ดอกมีรสฝาดเมาเย็น สรรพคุณช่วยดับธาตุไฟไม่ให้กำเริบ และช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (ดอก) ส่วนผลมีสรรพคุณช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์เช่นเดียวกับดอก และมีสรรพคุณช่วยดับเดโชธาตุ ไม่ให้เจริญ (ผล)
  2. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการผิดปกติทางจิตและประสาท (เมล็ด)
  3. เมล็ดใช้กินยาถ่ายพิษเสมหะและโลหิต (เมล็ด)
  4. เมล็ดใช้ในปริมาณต่ำผสมกับน้ำขิงสดให้เด็กกินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ด)
  5. เปลือกต้นมีรสเฝื่อน มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะที่ค้างอยู่ในลำคอและในอก (เปลือกต้น)
  6. รากมีสรรพคุณช่วยถ่ายเสมหะ ถ่ายโลหิตและลม (ราก)
  7. น้ำต้มจากเนื้อไม้ถ้าใช้ในปริมาณน้อย นำมากินจะทำให้อาเจียนและขับเหงื่อ (เนื้อไม้)
  8. เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาแก้คอตีบ (เมล็ด)
  9. เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายลม ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อเนื่องจากกระเพาะเย็นชื้นคั่งค้างสะสม (เมล็ด)
  10. ช่วยขับลมชื้น (เมล็ด)
  11. ใบสลอดใช้เป็นยาฆ่าแมลงวันได้

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/สลอด/

Scroll to Top