สลัดได

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Euphorbia antiquorum L.
ชื่อเรียกอื่น : กะลำพัก (นครราชสีมา), เคียะเหลี่ยม หงอนงู (แม่ฮ่องสอน), เคียะยา (ภาคเหนือ), สลัดไดป่า (ภาคกลาง), ทูดุเกละ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หั่วยานเล่อ ป้าหวางเปียน (จีนกลาง)
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ลักษณะ : ต้นสลัดได มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กจำพวกเดียวกับตะบองเพชร มีความสูงของต้นประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ตามต้นและกิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมอวบน้ำ เว้าคอดต่อกัน ผิวเรียบ ขอบสันหรือตามแนวเหลี่ยมเป็นหยักและมีหนามคู่เล็กแหลม 1 คู่ ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีขนาดเล็กมาก แผ่นใบอวบน้ำและหลุดร่วงได้ง่านเหมือนไม่มีใบ ดอกสลัดได ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกตามแนวสันเหนือหนาม ดอกมีใบประดับสีเหลือง 5 ใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียไม่มีกลีบดอก และจะอยู่ในช่อดอกเดียวกัน แต่ในช่อหนึ่งจะดอกมีเพศเมียดอกเดียว และมีดิกเพศผู้หลายดอก
การกระจายพันธุ์ : มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กจำพวกเดียวกับตะบองเพชร  พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ช่วงเวลาการออกดอก :

ประโยชน์ :

  • ต้นสลัดไดที่แก่จัดและมีอายุ 10 ปีขึ้นไปจะยืนต้นตาย ทำให้เกิดเป็นแก่นแข็ง ๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนไม้แห้ง ๆ สีน้ำตาล และมีกลิ่นหอม (เชื่อว่าเกิดจากเชื้อราที่เจริญเติบโตอยู่ในเนื้อไม้จนกลายเป็นแก่นไม้แข็ง) และเมื่อต้นตายแก่นที่ได้นี้จะเรียกว่า “กะลำพัก” ซึ่งแก่นของต้นที่ตายจะใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ หรือใช้เข้ายาบำรุงหัวใจ– – –
  • ช่วยเจริญธาตุไฟ
  • แก่นกะลำพักมีรสขม สรรพคุณเป็นยาแก้ลม
  • ช่วยแก้ผอมเหลือง
  • ตำรายาไทยจะใช้แก่นกะลำพักเป็นยาแก้ไข้ 
  • รากและต้นสลัดไดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ แก้หอบหืด 
  • ช่วยแก้พิษเสมหะ 
  • ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย
  • ตำรายาแก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลัน ให้ใช้ต้นหรือใบสดประมาณ 30-70 กรัม นำมาสับหรือตำ แล้วคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นให้นำข้าวสาร 15 กรัม ลงไปคั่วรวมกันจนกว่าจะออกสีเหลืองแล้วนำมาต้มกับน้ำรับประทาน
  • ยางนำมาทำเป็นยาเม็ดลูกกลอน ใช้กินเป็นยาแก้ท้องมาน แก้บวมน้ำ
  • ช่วยแก้อาการบวมน้ำ
  • ยางมีรสร้อนเบื่อมา ถ้านำมานึ่งให้สุกแล้วตากให้แห้งจะเป็นยาถ่ายอย่างแรง จึงควรนำมาฆ่าฤทธิ์ด้วยการย่างไฟ
  • ช่วยแก้พรรดึก หรือผู้ที่มีอาการท้องผูกอย่างแรง มีอุจจาระแข็งมาก
  • ก้าน ใบ และยางใช้เป็นยาถ่ายและยาฆ่าพยาธิ 
  • คนโบราณจะใช้ยางเป็นยารักษาฝีคันฑสูตร หรือฝีที่มีลักษณะมีรูที่ทวารหนักทะลุออกมา และรูรอบทวารหนักทะลุเข้าไปในลำไส้ตอนปลายแล้วเกิดเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง มีหนองไหลออกมา จนเกิดการติดเชื้อ ซึ่งคนโบราณเขาจะใช้เชือกยางสลัดร้อนเข้าไปแล้วค่อย ๆ รัดไม่ให้ขาด แต่ปัจจุบันจะไม่ใช้วิธีนี้แล้วเพราะผ่าตัดเอาจะง่ายกว่า
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยถ่ายหัวริดสีดวง ถ่ายริดสีดวงในลำไส้ 
  • ช่วยขับโลหิตเน่าร้าย 
  • ช่วยบำรุงตับและปอด 
  • ยางใช้เป็นยารักษาโรคตับแข็ง 
  • ยางใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง รักษากลากเกลื้อนภายนอก รักษาผดผื่นคัน ฝีหนอง 
  • ช่วยถอนพิษหนอง
  • ยางมีพิษระคายเคืองผิวหนัง ใช้เป็นยากัดหูด แต่ต้องระวังอย่าให้ยางถูกเนื้อดี เพราะจะทำให้เนื้อดีเน่าและหลุดไปด้วย 
  • ใช้ก้าน ใบ และยาง รสขมและมีกลิ่นหอม เป็นยาเย็นมีพิษ ใช้เป็นยาสำหรับแก้ปวดบวม 
  • ใช้เป็นยาขับพิษ ขับความชื้น ลดอาการแสบร้อน
  • ช่วยแก้อาการปวดหลัง
  • ช่วยแก้อัมพฤกษ์ 

ข้อควรระวัง:

  • น้ำยางสีขาวเป็นพิษ ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ ตาบอดชั่วคราว และถึงขั้นตาบอดได้ แต่ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ กัดผิว คันแดงแสบ ผิวหนังแดงไหม้ เปื่อย ทำให้เป็นตุ่มพองน้ำได้ ต้องระมัดระวังให้มาก
  • ยางจะมีสารซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง และระคายเคืองมาก จึงควรระมัดระวังในการใช้ให้มาก เพราะพบสาร 3-O-angeloylingenol ซึ่งเป็นสารร่วมเร่งก่อมะเร็ง (Co-carcinogen) และเป็นตัวช่วยรักษามะเร็งในเลือดได้ด้วย
  • หากกินมากเกินควร จะทำให้ปากแสบร้อน มีอาการเวียนศีรษะและอาเจียน แล้วสลบ มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก  และมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง  (ยางสลัดได มื้อหนึ่งไม่ควรใช้เกิน 130 มิลลิกรัม)
  • สตรีมีครรภ์และเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบ ห้ามรับประทานยาจากสมุนไพรชนิดนี้
  • วิธีการกำจัดพิษก่อนนำมาใช้ ถ้าใช้เป็นยารับประทาน ต้องนำยาแห้งไปคั่วกับข้าวารก่อน ให้ยาเป็นสีเหลืองจึงจะสามารถนำมาใช้ได้
  • วิธีการแก้พิษสลัดได ถ้ายางถูกผิวหนัง ให้รีบล้างออกด้วยน้ำแล้วใส่ยาแก้ปวด หรือให้รีบเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ และประคบบริเวณที่มีอาการด้วยน้ำเย็นจัดประมาณครึ่งชั่วโมง หรืออีกวิธีให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทา และถ้ายาเข้าตาก็ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และหยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่ถ้าในกรณีที่รับประทานเข้าไปมากจนเกินไปแล้วเกิดอาการเป็นพิษดังกล่าว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้น้ำเกลือทันที  ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าถ้ารับประทานยางเข้าไป เบื้องต้นให้รีบเอาส่วนที่เหลือออกมาให้มากที่สุด โดยการรับประทาน activated chrcoal (ถ่าน) และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้องหรือทำให้อาเจียน แล้วรักษาตามอาการต่อไป
Scroll to Top