สารภี

ชื่อ : สารภี

ชื่อสามัญ : Negkassar

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mammea siamensis T.Anderson

ชื่อวงศ์ : CALOPHYLLACEAE

ชื่อท้องถิ่น : สารภีแนน (เชียงใหม่), ทรพี สารพี (จันทบุรี), สร้อยพี (ภาคใต้) เป็นต้น โดยจัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในพม่า ไทย อินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย

 

ลักษณะ

ต้นสารภี จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาลถึงดำ แตกล่อนเป็นสะเก็ดตลอดทั่วลำต้น
เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดง มียางสีครีมหรือสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เนื้อละเอียด เสี้ยนตรง ถี่และสม่ำเสมอ แข็ง และค่อนข้างทนทาน สามารถเลื่อย ผ่า และไสกบตบแต่งได้ง่าย
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรและที่กลางแจ้ง ปลูกได้ในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและตามป่าดงดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20-400 เมตร

 

ใบสารภี มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ๆ บางทีอาจมีติ่งสั้น ๆ หรือหยักเว้าแบบตื้น ๆ โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ
ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบจะสีอ่อนกว่า เนื้อใบหนาและค่อนข้างเรียบ เส้นแขนงของใบไม่มี
แต่เห็นเส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นร่างแหชัดทั้งสองด้าน และมีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร

 

ดอกสารภี ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่มี 2 ช่อง
ในแต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวน 2 ปลาย หลอดรังไข่แยกเป็นแฉก 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

 

ผลสารภี ผลมีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือกลมรี ขนาดประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อผลนิ่ม ผลเมื่อแก่จะแตกออกได้ และมีเมล็ดเดียว
โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน  

ประโยชน์

  1. ผลสารภีมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และยังเป็นอาหารของนกได้อีกด้วย
  2. นอกจากจะใช้ผลรับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ทำน้ำผลไม้ การทำไวน์ ทำแยม เป็นต้น
  3. ดอกตูมของสารภีใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง
  4. ต้นสารภีมีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและบังลมได้ อีกทั้งยังมีดอกและพุ่มใบที่สวยงาม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ด้วย
  5. คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นสารภีไว้ประจำบ้านจะส่งผลให้มีอายุยืนยาวเหมือนเช่นต้นสารภี เพื่อความเป็นสิริมงคลผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ (โบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์)
    และควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไร ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี เนื่องจากสารภีเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสตรี
  6. ดอกแห้งใช้ทำเป็นน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อยเผา นำมาแช่ในน้ำจะได้น้ำหอมสำหรับไว้ใช้เป็นน้ำสรงพระในเทศกาลสงกรานต์
  7. ดอกสดสามารถนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนำไปใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง
  8. เนื้อไม้สารภีมีความแข็งแรงและค่อนข้างทนทาน สามารถนำมาใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ เช่น การทำเสา ฝา รอด ตง กระดานพื้น รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ฯลฯ

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/สารภี/

Scroll to Top