สำโรง

ชื่อ : สำโรง

ชื่อสามัญ : Bastard poon, Pinari

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sterculia foetida L.

ชื่อวงศ์ : MALVACEAE

ชื่อท้องถิ่น : จำมะโฮง (เชียงใหม่), มะโรง มะโหรง (ปัตตานี), โหมโรง (ภาคใต้)

 

ลักษณะ

ต้นสำโรงจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นเปลาตรงและสูงชะลูด เรือนยอดเป็นรูไข่ถึงทรงกระบอก ทรงพุ่มโปร่งไม่ทึบ
กิ่งก้านแตกแขนงในลักษณะตั้งฉากกับลำต้นและแผ่กว้างออกไปรอบ ๆ ต้น และการแตกกิ่งก้านจะออกเป็นระยะ ๆ ทำให้เห็นทรงพุ่มเป็นชั้น ๆ ดูคล้ายฉัตร และในแต่ละชั้นจะมีระยะห่างใกล้เคียงกัน
และจะแตกกิ่งก้านที่ระดับความสูงตั้งแต่ 8-10 เมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบและค่อนข้างหนาและเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทา ปรากฏร่องรอยแผลเป็นของก้านใบที่หลุดลอกรอบต้นอย่างชัดเจนและมีลักษณะเป็นเส้นใยหยาบ ๆ สีน้ำตาล ส่วนโคนต้นแก่แตกเป็นพูพอนเล็กน้อย เนื้อไม้หยาบและเป็นไม้เนื้ออ่อนค่อนข้างเหนียว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในประเทศไทยพบต้นสำโรงกระจายพันธุ์อยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามป่าโปร่งทั่วไป ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-600 เมตร

 

ใบสำโรงใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ กางแผ่ออกจากจุดเดียวกัน ออกเรียงเวียนสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมหรือมีติ่งแหลม
โคนใบแหลมหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยง หลังใบเรียบ
และท้องใบเรียบแต่มีสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบข้างละ 17-21 เส้น ส่วนก้านใบร่วมยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร

 

ดอกสำโรงออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีแดงเข้ม ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วยสีแสด ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายกลีบม้วนออก และมีขนละเอียดปกคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่จะงอลงด้านล่าง และมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 12-14 อัน ก้านเกสรมีขนาดสั้นมากจนเกือบมองไม่เห็น
อยู่ติดกับรังไข่ ดอกมีกลิ่นเหม็นมาก จึงไม่ควรนำมาปลูกบริเวณใกล้ที่พักอาศัย โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และช่อดอกจะออกไล่เลี่ยกับการผลิใบอ่อน

ผลสำโรงขั้วผลติดกันเป็นกระจุก 4-5 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปไต ปลายผลมีติ่งแหลมออกเป็นพวงห้อยย้อยลงมา ผิวผลเรียบแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดง หรือสีแดงปนน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 6-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร พอแห้งแล้วจะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีกตามร่องประสาน เปลือกผลแห้งจะแข็งเหมือนไม้และมีสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดลักษณะกลมรีสีดำ
เนื้อในเมล็ดเป็นสีขาว เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยผลหนึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 12-13 เมล็ด และจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

 

ประโยชน์

  1. เนื้อไม้สำโรง เป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาไสกบและตกแต่งได้ง่าย จึงเหมาหรับนำมาใช้ทำเครื่องเรือน หีบใส่ของ หูกทอผ้า ไม้จิ้มฟัน ก้านและกลักไม้ขีดไฟ และไม้อัดได้ ส่วนเปลือกสามารถนำมาใช้ทำเชือกอย่างหยาบ ๆ ได้
  2. น้ำมันจากเนื้อในเมล็ดสำเร็งสามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหารและจุดไฟได้[4] (บางข้อมูลระบุว่าผลมีรสหวานและใช้รับประทานได้)
  3. ในด้านการเป็นไม้ประดับ ความน่าสนใจของต้นไม้ชนิดนี้ก็คือ เป็นต้นไม้ที่มีรูปทรงของลำต้นเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นเหมือนร่ม พุ่มใบหนาทึบ กิ่งก้านแตกตั้งฉากกับลำต้นจากจุดเดียวกันเป็นฉัตร รูปใบดูแปลกตาและให้สีสันสวยงาม เพราะใบอ่อนจะเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว พอใบใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองดูสดใส อีกทั้งยังมีผลแก่สีแดงที่ดูเด่นสวยงามและแปลกตา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะนิยมนำมาปลูกไว้ตามริมถนน โรงเรียน หรือในวัด และยังจัดเป็นไม้ป่าที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ หรือใช้ปลูกเป็นหมวดหมู่เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ก็ให้ความแปลกตาและร่มเงาได้เป็นอย่างดี (แต่จะไม่นิยมมาปลูกไว้ในบริเวณที่พักอาศัย
    เพราะดอกมีกลิ่นเหม็นมาก)

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/สำโรง/

Scroll to Top