หูเสือ

ชื่อ : หูเสือ

ชื่อสามัญ : Indian borage, Country borage, Oreille, Oregano

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.

ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE หรือ LABIATAE

ชื่อท้องถิ่น : หอมด่วนหูเสือ หอมด่วนหลวง (ภาคเหนือ), เนียมหูเสือ (ภาคอีสาน), ผักฮ่านใหญ่ (ไทใหญ่), ผักหูเสือ (ไทย), เนียมอีไหลหลึง โฮว้หีเช่า (จีน)

 

ลักษณะ

ต้นหูเสือ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 2-3 ปี มีความสูงของลำต้นประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ หักได้ง่าย กิ่งและลำต้นค่อนข้างกลม ต้นอ่อนจะมีขนขึ้นอย่างหนาแน่น เมื่อแก่แล้วจะค่อย ๆ
หลุดร่วงไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำยอดหรือต้น ขึ้นได้ในทุกสภาพดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมสมบูรณ์ที่มีอินทรียวัตถุสูง ชอบความชื้นมาก และแสงแดดปานกลาง พบขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป
ตามที่ลุ่มชื้นแฉะทั่วทุกภาคของประเทศ แต่พบได้มากทางภาคเหนือ

ใบหูเสือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ส่วนขอบใบจักเป็นคลื่นมน ๆ รอบ ๆ ใบ
ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก
ก้านใบมีความยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร ใบเมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมฉุน

 

ดอกหูเสือ ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือยอด ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 6-8 ดอก ดอกจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกย่อยติดกันหนาแน่นเป็นวงรอบแกนผล
เป็นระยะ ๆ และมีขน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วงขาว ลักษณะเป็นรูปเรือ ยาวได้ประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ
กลีบบนสั้น ตั้งตรง และมีขน ส่วนกลีบล่างมีลักษณะยาวและเว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีขน
และมีต่อม ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก แฉกบนเป็นรูปไข่กว้าง ปลายแหลม ส่วนแฉกข้างเป็นรูปหอกแคบ โดยแฉกล่างจะยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ส่วนใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
ปลายแหลม ก้านสั้น

ผลหูเสือ ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นสรน้ำตาลอ่อน เปลือกผลแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร

ประโยชน์

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบทุกชนิด ก้อย แจ่วป่น ซุปหน่อไม้ ซุบมะเขือ ใช้ใส่ในแกงต่าง ๆ ใช้รับประทานสดเป็นผักแกล้มกับอาหารอื่น ๆ ใช้กินกับหมาก รวมทั้งยังนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น เนื่องจากผักหูเสือมีน้ำมันหอมระเหยสูง จึงช่วยย่อยและดับกลิ่นคาวได้ดีมาก
  2. กลิ่นหอมของใบหูเสือจะคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” (Oregano) ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า หากใครที่ชอบกลิ่นของออริกาโน ก็สามารถนำใบหูเสือมาตากให้แห้งสนิทในที่ร่ม แล้วบดให้ละเอียด เพียงเท่านี้ก็สามารถ
    นำมาใช้แทนออริกาโนได้เลย
  3. ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้า สระผมได้
  4. ใบสามารถนำไปทำเป็นยานัตถุ์ได้ เพราะมีกลิ่นหอม หรือจะนำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง ใช้ดับกลิ่นคาวอาหารก็ได้
  5. หูเสือ เป็นผักที่มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ดร้อน มีรสเปรี้ยวแทรกอยู่เล็กน้อย ตามบ้านเรือนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะพบหูเสือถูกปลูกอยู่ในกะละมัง แม้ว่าผักหูเสือจะไม่ใช่ผักหรือสมุนไพรที่โดดเด่น แต่แทบทุกบ้านมักจะปลูกไว้เป็นไม้คู่บ้าน โดยชาวบ้านในแถบทางภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ส่วนคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ

 

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/เนียมหูเสือ/

Scroll to Top