เจียวกู่หลาน

ชื่อ : เจียวกู่หลาน

ชื่อสามัญ : Jiaogulan, Gynostemma, Miracle grass (หญ้ามหัศจรรย์), Southern ginseng (โสมภาคใต้), 5-Leaf ginseng (โสมห้าใบ), Penta tea

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino

ชื่อวงศ์ : CUCURBITACEAE

ชื่อท้องถิ่น : ปัญจขันธ์ เบญจขันธ์ (ไทย), เครือต๋อมต๋อ (ไทใหญ่), ชีเย่ต่าน เสี่ยวขู่เอี้ยว เจียวกู่หลาน (จีนกลาง) คำว่า “เจียวกู่หลาน” มาจากภาษาจีนที่หมายความถึงพืชเถาที่พันรอบไม้ใหญ่ แต่ด้วยความที่สมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพและรักษาอาการป่วยต่าง ๆ
ได้หลายอย่าง ชาวจีนจึงเรียกว่าเจียวกู่หลานว่า “ซียันเช่า” ซึ่งมีความหมายว่าสมุนไพรแห่งชีวิตอมตะ ส่วนชาวญี่ปุ่นจะเรียกว่า “อะมาซาซูรู”
ที่มีความหมายว่า ชาหวานจากเถา

ลักษณะ

ต้นเจียวกู่หลานจัดอยู่พรรณไม้ล้มลุกตระกูลหญ้าแบบเถาเลื้อย ยาวประมาณ 1-150 เซนติเมตร มีรากอยู่ใต้ดินเป็นรากเลื้อย เส้นเล็ก ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของราก
ประมาณ 1 เซนติเมตร ลำต้นเป็นข้อ ๆ มีมือเกาะตามข้อ มีขนบาง ๆ เล็กน้อย เลื้อยไปตามพื้นหรือเลื้อยพันกับพืชชนิดอื่น ๆ ขยายพันธุด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ
ริมทางน้ำไหล หรืออาจพบขึ้นบนหินปูน มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ในบริเวณภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาที่มีความสูงระดับ 300-3,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบได้ในประเทศอินเดีย เนปาล จีน พม่า ลาว เกาหลี และญี่ปุ่น
ส่วนในประเทศไทยสมุนไพรชนิดนี้สามารถปลูกได้ดี ปัจจุบันมีการปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่แพร่หลายนัก

 

ใบเจียวกู่หลานใบออกเรียงสลับ มักเรียงแบบขนนก กิ่งหนึ่งมีใบประมาณ 3-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบกลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กน้อย
ตรงกลางของใบ ยาวได้ประมาณ 4-8 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร เส้นใบล่างมีขนสั้นปกคลุม ใบ 2 ข้างมักเรียงคู่กันเล็กกว่าใบตรงกลาง

 

ดอกเจียวกู่หลานออกดอกเป็นกระจุกมีสีเหลืองเขียว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นเส้น ปลายแหลมยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน
มีเกสรเพศเมีย 3 อัน

 

ผลเจียวกู่หลานลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวออกดำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวได้ประมาณ 4 มิลลิเมตร
เมล็ดจะเป็นเส้นย่น

 

ประโยชน์

  1. เจียวกู่หลานหรือ สมุนไพรปัญจขันธ์ มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยชะลอความแก่ การรับประทานเจียวกู่หลานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 60 วัน จากคนที่เข้ารับการรักษาจำนวน 1-6 คน พบว่า
    คนที่เข้ารับการรักษาร่างกายทุกคนแข็งแรงดีขึ้น ความจำฟื้นคืนปกติ อาการนอนไม่หลับและอาการปวดหลังปวดเอวหายไป
  2. ใช้เป็นยารักษามะเร็งต้านทานการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง ด้วยการรับประทานสารสกัดจากเจียวกู่หลานครั้งละ 40 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง จากคนที่เข้ารับการรักษาจำนวน 30 คน
    โดยทำการรักษาเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า มี 27 ราย ได้ผลดีขึ้น ประสิทธิภาพในการรักษาประมาณ 87%[1] บางข้อมูลระบุว่าเจียวกู่หลานมีสรรพคุณช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด
    มะเร็งในช่องท้อง มะเร็งลำไส้ มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม และอื่น ๆ อีกรวมกว่า 20 ชนิด
  3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลลดไขมันในเส้นเลือด ด้วยการใช้ใบเจียวกู่หลานแห้ง นำมาชงกับน้ำรับประทานแทนน้ำชา ครั้งละ 2-3 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 40 วันอย่างต่อเนื่อง พบว่า ผู้ที่เข้ารับการรักษา
    จำนวน 29 คน มี 19 คน ที่เห็นผลดี และมี 1 คน ที่ได้ผล โดยมีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่ที่ 97%
  4. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูงโรคหัวใจ มีอาการปวดบิดทางหัวใจ ด้วยการใช้ใบเจียวกู่หลานแห้ง นำมาชงกับน้ำรับประทานแทนน้ำชา ครั้งละ 2-3 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 40 วันอย่างต่อเนื่อง พบว่า
    คนไข้ที่เข้ารับการรักษาจำนวน 23 คน มี 7 คน ที่ได้ผล และมี 5 คน ที่ให้ผลเด่นชัด ส่วนอีก 11 รายยังไม่เห็นผลชัดเจน โดยมีประสิทธิภาพการรักษาอยู่ที่ 17%[1] แต่ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำจะปรับความดันให้เป็นปกติ
  5. ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง
  6. ช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
  7. ทั้งต้นและรากมีรสขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ รักษาไข้หวัด แก้ร้อนในต่าง ๆ
  8. ช่วยแก้อาการไอ ไอเรื้อรัง
  9. ช่วยขับเสมหะ
  10. ใช้เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบ โรคหลอดลมเรื้อรัง หลอดลมแข็งตัว ตามรายงานระบุว่าจากการใช้เจียวกู่หลานรักษาผู้ป่วยโรคหลอดลมเรื้อรังมากกว่า 500 ราย มีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่ที่ 79%
  11. ใช้รักษาโรคถุงลมในปอดอักเสบ ชาวจีนได้มีการใช้เจียวกู่หลานเป็นยารักษาผู้ป่วยที่มีอาการถุงลมในปอดอักเสบมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งมีผลการทดลองที่ได้นำชาเจียวกู่หลานมาให้ผู้ป่วยดื่มเพื่อรักษาโรคถุงลมในปอดอักเสบ จากการทดลองพบว่า ได้ผลในการรักษาสูงถึง 92% จากการรักษาผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 96 ราย
  12. ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารมากยิ่งขึ้น
  13. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  14. ช่วยทำให้ตับแข็งแรง ใช้รักษาตับอักเสบติดเชื้อหรือตับอักเสบชนิดไวรัสบี กรวยไตอักเสบ
  15. ใบนำมาทุบ ใช้เป็นยาพอกฝี (ชาวไทใหญ่)
  16. ใช้เป็นยาขับพิษแก้อักเสบ ต้านการอักเสบ แก้ปวด
  17. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก
  18. ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้กระดูกหัก แก้อาการเจ็บในกระดูก ปวดในข้อเท้า ข้อมือ หรือปวดตามกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาการฟกช้ำดำเขียวต่าง ๆ (ต้นสด)
  19. ส่วนสรรพคุณในตำรับยาจีน ระบุไว้ว่าสารสกัดจากเจียวกู่หลานมีสรรพคุณช่วยส่งการสร้างเซลล์กระดูก เสริมสร้างการรวบตัวของโปรตีนและกรดในตับ ช่วยบำรุงสมอง มีผลต่อการรักษาโรคในช่องอก โรคโลหิตจาง โรคหลอดลมเรื้อรังและโรคหลอดเลือดแข็งตัว
  20. นอกจากนี้เจียวกู่หลานยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ช่วยแก้อาการท้องผูก ลดกรด รักษาลำไส้อักเสบ คางทูม ทอนซิล ความจำเสื่อม ปวดหัว ไมเกรน ผมหงอก ผมร่วง หอบหืด ฆ่าเชื้อราที่เท้า โรคเก๊าท์ ปวดหลัง ปวดเอว แก้หูอักเสบ แก้หูด ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ทำให้แผลหายเร็ว เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเซลล์ในร่างกาย ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ลดภูมิแพ้ สร้างสมดุลฮอร์โมนรอบเดือนของสตรี ฟื้นฟูฮอร์โมนต่อมลูกหมากของสุภาพบุรุษ ลดอาการต่อมลูกหมากโต ขับท่อปัสสาวะ ขับน้ำในร่างกายของคนที่เป็นคนอ้วน ขับของเสียที่ไต ช่วยล้างท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะโล่งและมีแรงดัน ช่วยขับลมต่าง ๆ (เช่น ลมที่ไม่ปกติในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลมแน่นหน้าอก กรดไหลย้อน ลมในข้อกระดูก แขน ขา หัวไหล่) ขับไขมัน ขับถ่ายสะดวก เป็นต้น

 

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/เจียวกู่หลาน/

Scroll to Top