แจง

ชื่อ : แจง

ชื่อสามัญ –

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maerua siamensis (Kurz) Pax

ชื่อวงศ์ : CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE

ชื่อท้องถิ่น : แกง (นครราชสีมา), แก้ง แจ้ง

 

ลักษณะ

ต้นแจงหรือ ต้นแกง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ พบได้บ้างที่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ๆ เป็นพรรณไม้โตช้า
มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่งสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด พบขึ้นได้ในป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0-400 เมตร โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ใบแจงมีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ (บางครั้งอาจพบว่ามี 4-5 ใบ แต่พบได้น้อย) ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ปลายใบสอบเรียวหรือกลม หรือเว้าตื้นเล็ก ๆ
มีหนามแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบ เป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเกลี้ยงทั้งสองด้าน (บ้างว่าบางคล้ายแผ่นกระดาษ)
แผ่นใบแตกแขนงมาก ก้านช่อใบยาวประมาณ 5-6.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นจนเกือบไม่มี

 

ดอกแจงออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะ รวมเป็นช่อแยกแขนง โดยออกเป็นช่อตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเขียวอมสีขาว ดอกไม่มีกลีบดอก มีแต่มีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน
ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2-0.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ปลายแหลม ส่วนขอบมีขนคล้ายกับเส้นไหม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร
ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9-12 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ติดทน มีอับเรณูลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายอับเรณูเป็นติ่ง ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง
ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มีรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกเกลี้ยง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม

 

ผลแจงลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปกระสวย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 4.5-7.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว
เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต โดยจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ประโยชน์

  1. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย (ราก)
  2. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่าและแข็งแรง (ต้น)
  3. รากใช้เป็นยาแก้กษัยหรืออาการป่วยที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายซูบผอม เสื่อมโทรม ปวดเมื่อย โลหิตจาง (ราก)
  4. เปลือกต้น ราก และใบแจงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ดีซ่าน (เปลือกต้น, ราก, ใบ)บ้างว่าใช้ทั้งต้นต้มดื่มเป็นยาแก้ดีซ่าน (ทั้งต้น, ใบ)
  5. ใช้ยอดและใบแจงเป็นยาแก้ไข้ (ใบและยอด)บ้างว่าใช้แก่นเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (แก่น)
  6. ทั้งต้นใช้เป็นยาต้มแก้ไข้จับสั่น (ทั้งต้น, ใบ)
  7. ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ด้วยการใช้เปลือกต้น ราก และใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกต้น, ราก, ใบ)
  8. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ทั้งต้น)
  9. ยอดอ่อนผสมเกลือใช้รักษาโรครำมะนาด (ยอดอ่อน)
  10. ช่วยแก้อาการหน้ามืดตาฟาง ด้วยการใช้เปลือกต้น ราก และใบ นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกต้น, ราก, ใบ)
  11. ยอดอ่อนนำมาต้มใช้ล้างหน้าจะช่วยแก้ตาฝ้าฟางได้ (ยอดอ่อน)
  12. ใบและยอดนำมาตำหรือโขลกให้พอแหลกเล็กน้อย แล้วปั้นกลม ๆ เป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาใช้สีฟัน จะช่วยทำให้ฟันทน ปากหอม ฟันขาวสะอาดสดชื่น หรืออาจจะใช้อมเพื่อเป็นยาฆ่าแมงกินฟันด้วยก็ได้
    (ใบและยอด)ใบช่วยแก้ฟันผุ (ใบ)นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ระบุว่าต้นและรากมีสรรพคุณที่เหมือนกัน แต่ต้นจะมีคุณสมบัติทางยามากกว่ารากตรงที่แก้แมงกินฟันและทำให้ฟันทน (ต้น, ราก)
  13. ยอดอ่อนผสมกับเกลือใช้แก้อาการปวดฟัน (ยอดอ่อน)
  14. ช่วยรักษาฝีในคอ (ราก)
  15. ช่วยขับปัสสาวะ (ราก) หรือจะใช้ต้นแจงทั้งห้า ชะพลู แก่นไม้สัก อย่างละ 3 ตำลึง นำตัวทั้งหมดนี้มาใส่หม้อดินกับน้ำ 3 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ใช้ดื่มเป็นยาเช้าเย็นก็เป็นยาแก้ขัดเบาได้ดีนัก (ทั้งต้น)
  16. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ หรืออาการที่เวลาปัสสาวะแล้วจะปวดหรือปัสสาวะแบบกะปริดกะปรอย น้ำปัสสาวะขุ่นข้น หรืออาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ (ราก)
  17. ช่วยแก้ดีพิการ (ทั้งต้น)
  18. รากนำมาต้มเอาไอน้ำอบแก้อาการบวม (ราก)
  19. ใบใช้เข้าลูกประคบเป็นยาแก้อาการฟกช้ำ (ใบ) ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)
  20. ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลัง (ต้น)
  21. ใบแจงสามารถนำมาใช้ทำเป็นลูกประคบสำหรับสตรีที่คลอดบุตรเพื่อช่วยลดความปวดเมื่อยล้า (ใช้ใบแจง ใบมะจาม ไพร หัวหอม และเกลือ)
  22. ใบใช้ทำเป็นลูกประคบเพื่อแก้อัมพฤกษ์อัมพาต (ใบ)หรือใช้เปลือกไม้และรากนำมาต้มอาบ อบ กิน เป็นยาแก้อัมพฤกษ์อัมพาตก็ได้ (เปลือก, ราก)
  23. ดอกอ่อน ยอดอ่อน นำมาดองคล้ายกับผักเสี้ยนหรือดอกกุ่ม ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกได้ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองก่อนนำมารับประทานได้ หรือที่อีสานเรียกว่า “คั้นส้ม” เช่นเดียวกับการกินยอดผัดกุ่ม ที่ต้องนำมาดองหรือคั้นส้มก่อนนำมารับประทาน และคนอีสานยังเชื่อว่าหากได้รับประทานคั้นส้มของยอดอ่อนของต้นแจงปีละครั้ง จะช่วยป้องกันสภาวะสายตายาวได้ และยังช่วยบำรุงสายตาได้ดีเยี่ยมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุด้วยว่าผลก็สามารถนำมารับประทานได้ (แต่ไม่อร่อยจึงไม่เป็นที่นิยม) และใช้เป็นอาหารของนกได้
  24. ต้นแจงจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ เป็นต้นไม้หายากที่กำลังจะถูกลืมเพราะไม่เป็นที่รู้จักกันนัก จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ เหมาะแก่การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อชื่นชมความงามของดอกและผลที่มีลักษณะสวยงามและแปลกตา อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม เหมาะใช้ปลูกเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ ปลูกให้ความร่มรื่นและร่มเงาได้เป็นอย่างดี
  25. มีการใช้ลำต้นของต้นแจงเพื่อเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากด้วย
  26. ไม้สีขาวอ่อนและล่อนเป็นกาบ ๆ ของต้นแจง นิยมนำมาเผาเอาถ่าน เพื่อทำถ่านที่มีคุณภาพดี และยังนำถ่านที่ได้มาทำเป็นดินปืน นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำเป็นถ่านอัดในบั้งไฟอีกด้วย
  27. ใบของต้นแจงเมื่อในสมัยก่อนนั้นจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาขนสัตว์ เช่น กระจอก
  28. นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เพื่อแจกแจงอายุขวบขัยของวงปีต้นไม้ได้ สังเกตได้การตัดไม้ตามขวางของลำต้นจะเห็นวงปีได้ชัดเจน จึงนิยมนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนทางชีววิทยา

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/แจง/

Scroll to Top