โกฐจุฬาลัมพา

 

ชื่อ : โกฐจุฬาลัมพา

ชื่อสามัญ : Common wormwood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artemisia vulgaris L.

ชื่อวงศ์ : ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE

ชื่อท้องถิ่น  :พิษนาศน์ พิษนาด (ราชบุรี), โกฐจุฬาลำพา (กรุงเทพฯ), ตอน่า (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เหี่ย เหี่ยเฮี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว), ไอ้เย่ ไอ้ อ้าย (จีนกลาง)

 

 

ลักษณะ

ต้นโกฐจุฬาลัมพา (ชนิดที่ในหนังสือระบุชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia vulgaris L.) นั้น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 45-120 เซนติเมตร หรืออาจสูงได้ถึง 2 เมตร โคนต้นเป็นเหง้าติดพื้นดินหรืออยู่ใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะกลมและมีร่อง ตั้งตรง มีขนขึ้นปกคลุม แตกกิ่งก้านกลางต้น ใบออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นฝอยคล้ายผักชี ผิวใบเรียบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หลังใบมีขนสีขาวเล็กน้อย
สีเทาเขียว ส่วนหน้าใบเป็นสีเขียว ใบแตกเป็นแฉกแบบขนนก เป็นซี่ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-10.5 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเกลี้ยง ก้านใบสั้น ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว (เป็นพันธุ์ที่พบได้ในป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris L.) หรือดอกเป็นสีแดง (เป็นพันธุ์ที่พบได้จากการเพาะปลูก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia argyi Levl. et Vant.) มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ
ออกประมาณเดือน 9 ถึงเดือน 10 ออกเป็นช่อตามปลายต้น ตั้งตรง ดอกยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีต่อม ส่วนโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือหลอด ปลายกลีบดอกหยักเป็นแฉก 4-5 แฉก
ส่วนผลหรือเมล็ดเป็นรูปไข่ มีลักษณะกลมรี พื้นผิวเกลี้ยงไม่มีขน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ทั้งพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดงมีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้
นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ดอกสีเหลืองชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia princeps Pamp ด้วย แต่พันธุ์นี้จะมีพิษ ถ้าใช้เกินขนาดก็อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้)

ประโยชน์

สำหรับโกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia argyi จีนจะนำมาใช้เป็นวัสดุบำบัดโรคด้วยการรมยา (moxibuston) ใช้เป็นสมุนไพรไล่หนู ด้วยการใช้ต้นโกฐจุฬาลัมพา 2 ขีด, น้ำ 1 ลิตร และจุลินทรีย์หน่อกล้วยอีก 10 ซีซี
นำมาผสมรวมกัน หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วคั้นเอาแต่น้ำไปใช้ฉีดพ่นรอบแปลงนา (ใช้ในอัตราส่วนสารสกัด 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร) โดยใช้ฉีดพ่นรอบแปลงนาในระยะ 7-10 วัน อย่างต่อเนื่องเพียงแค่นี้ก็จะช่วยป้องกันหนู
มาทำลายต้นขาวในนาข้าวได้แล้ว แถมยังปลอดภัยไร้สารเคมี ดีต่อนาข้าว และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย

แหล่งอ้างอิง

medthai.com/โกฐจุฬาลัมพา/

Scroll to Top